Home » การทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกันของผู้สูงอายุ

การทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกันของผู้สูงอายุ

ฝึกทำงานสองอย่าง

ปัจจุบันสังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้วยตัวเลขจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นทำให้นักกายภาพบำบัดเข้าไปมีบทบาทในแง่ของการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู เพื่อให้ผู้สูงอายุยังคงแข็งแรง และคอยประเมินความเสี่ยงในการล้ม ซึ่งอาจส่งผลเสียที่รุนแรงตามมาในอนาคต

นอกจากปัญหาด้านร่างกายแล้ว ปัจจุบันยังพบว่าผู้สูงอายุมีความเสี่ยงในแง่ของการทำงานการรู้คิด (cognition) สัมพันธ์ไปกับการทำงานสมองที่ลดลงซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อม (dementia) ได้ในอนาคต

การเสื่อมของทำงานด้านการรู้คิดที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุคือความสามารถในการบริหารจัดการ (executive function), ด้านความจำ (memory), ด้านการจดจ่อ (attention) ซึ่งจากงานวิจัยหลายๆ งานได้นำเอาการทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน (dual task) เข้ามาเพื่อประยุกต์ใช้กับโปรแกรมการฝึกทางกายภาพบำบัด เพื่อให้เกิดการทำงานของสมองที่มากขึ้นในขณะทำการเคลื่อนไหว

รูปแบบของการทำงานสองอย่างพร้อมกัน มีทั้งการเพิ่มการเคลื่อนไหวอีกแบบเข้าไป และการเพิ่มการทำงานด้านการรู้คิดเข้าไป ประโยชน์ของการทำงานสองอย่างพร้อมกันนิยมนำมาตรวจความสามารถในผู้ป่วยทางระบบประสาท และผู้มีภาวการณ์รู้คิดบกพร่องเล็กน้อย ตัวอย่างการนำไปใช้สอดคล้องไปกับการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น ในขณะลุกขึ้นยืนจากท่านั่ง เรามักจะถือแก้วน้ำไว้ในมือข้างหนึ่ง หรือการเดินร่วมไปกับการพูดคุยกับเพื่อน ซึ่งที่กล่าวมานั้นล้วนเป็นการทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกันทังสิ้น

ในทางกายภาพบำบัดจะนำมาประยุกต์ใช้การฝึกหรือร่วมกับการทดสอบ ตัวอย่างเช่น การทดสอบ Timed up and go ซึ่งจะประกอบไปด้วยการลุกขึ้นยืนเดินตรงไปข้างหน้า 3 เมตร และอ้อมกรวย วนกลับมานั่งที่เดิม โดยจะเพิ่มให้ลบเลขจาก 100 ด้วย 7 หรือการคิดคำที่ขึ้นต้นด้วย ก หรือการเพิ่มการเคลื่อนไหวอีกอย่างเข้าไป เช่น การให้ทดสอบร่วมไปกับการถือแก้วน้ำซึ่งมีน้ำอยู่ โดยคำสั่งคือ เดินให้ปลอดภัยและพยายามให้น้ำไม่หก

การทำงานสองอย่างพร้อมกันจะทำให้ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น ซึ่งการฝึกบ่อยๆ จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถจัดการการเคลื่อนไหว หากมีเหตุไม่คาดฝันที่อาจจะนำไปสู่การล้มได้

การฝึกด้วยการทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการฝึก ซึ่งนิยมนำมาใช้ฝึกในผู้ป่วยระบบประสาทและผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงในการล้ม การฝึกดังกล่าวจะเพิ่มความสามารถด้านการรู้คิด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่ภาวะสมองเสื่อม และจากการศึกษาก่อนหน้าได้กล่าวว่า ยังช่วยให้ความเสี่ยงในการล้มลดลงอีกด้วย